ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ

เพราะเรามีไม่พอ

สิ่งที่เรามี ก็หมายถึง ทรัพยากรต่างๆที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเงิน/เวลา/ความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าและทุกคนก็มีความต้องการ เพราะสิ่งเหล่านี้ เราสามารถนำไปใช้ นำไปต่อยอด เพื่อให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“ไม่มีเวลา” เป็นสิ่งที่ใครๆก็พูด ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ทุกคนก็มีเวลาเท่ากัน คือ ไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่ เพราะ เราทุกคนก็มีเวลา 24 ชม.ในแต่ละวัน แต่เราไม่รู้ว่ามีเวลาอยู่กี่วันกันแน่ (ชีวิตเดินอยู่บนความเสี่ยงน่ะครับ) แต่ เราทุกคนก็มีกิจกรรมที่อยากทำมากมาย ตั้งแต่การนอน การท่องเที่ยว การเรียนรู้ การช่วยเหลือสังคม หรือการพยายามค้นหาอะไรที่สูงส่งยิ่งกว่านั้น

ทุกกิจกรรมที่เราอยากทำนั้นล้วนแต่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงต้องมีการจัดการทรัพยากรเพื่อให้ถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Slide1

 

ต้นทุนค่าเสียโอกาส – เครื่องมือในการเปรียบเทียบ

เพื่อให้เราจัดการทรัพยากรได้ดีที่สุด เราก็ต้องเปรียบเทียบ ต้นทุน ในการใช้ทรัพยากรที่ขาดแคลน

ยกตัวอย่างเช่น กลางวันของวันหนึ่ง เรามีเงินพอที่จะซื้อข้าวเที่ยงได้เพียง 1 อย่าง แต่ว่ามีให้เราเลือกระหว่าง 1. ข้าวแกง และ 2. ก๋วยเตี๋ยว เราจะตัดสินใจระหว่าง 2 อย่างนี้อย่างไร?

Slide2

หากเราเลือกข้าว สิ่งที่เรากำลังจะเสียไปก็คือ ความสุขจากการทานก๋วยเตี๋ยว (เพราะเรามีเงินซื้อได้เพียง 1 อย่าง) ในทางกลับกัน เมื่อเราเลือกซื้อก๋วยเตี๋ยว สิ่งที่เรากำลังจะเสียไปก็คือ ความสุขที่ได้จากการกินข้าวนั่นเอง ค่าเสียโอกาสนี้ก็คือ ความสุขที่จะไม่ได้รับ ไม่ใช่เงินที่เราเสียไป

นอกจากนี้ ถ้าหากเวลากินข้าวมีจำกัดด้วย เราก็ต้องทำการเปรียบเทียบอีกว่า การกินข้าวกับก๋วยเตี๋ยวนั้น จะทำให้เราเสียโอกาสในการนอนงีบช่วงกลางวัน หรือนั่งพูดคุยผ่อนคลายกับเพื่อนๆไปมากเท่าใด

ด้วยหลักการเดียวกันนี้ ก็ได้ทำให้ประเทศอังกฤษสามารถผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งการค้าในช่วงยุคบุกเบิก ที่ประเทศอังกฤษ เลือกที่จะผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และซื้อสินค้าประเภทอาหาร เพราะ อังกฤษมีค่าเสียโอกาสในการใช้คนเพื่อปลูกข้าว มากกว่าการผลิตเสื้อนั่นเอง (แม้ว่าจริงๆแล้ว อังกฤษจะเป็นประเทศที่สามารถผลิตสินค้าแทบทุกอย่างได้เก่งกว่าประเทศอื่นๆ)

 

แจกข้าวฟรี (จริงหรือ)

Slide3

ในสำนวนภาษาอังกฤษ คนมักพูดว่า There is no Free Lunch หรือถ้าแปลไทยก็คือ ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ หลายคนก็จะเริ่มสงสัย เพราะที่ผ่านมา ก็เห็นว่ามีหลายที่ที่มีการแจกอาหารให้กับคนฟรีๆ อิ่มท้องแถมตังค์ยังอยู่ครบ แล้วมันจะไม่ฟรีได้อย่างไร?

คำตอบคือ

.

.

.

.

.

.

.

.

คิวต่อแถวที่ยาวมากกกกกกกกกก

Slide4

เพราะไม่ต้องเสียเงินเพื่อรับอาหาร ทำให้สามารถลดต้นทุนที่เป็นตัวเงินออกไปได้ ดังนั้น คนจึงเข้ามาต่อแถวมากขึ้น แต่เมื่อแถวยาว ก็ได้ทำให้เกิดต้นทุนทางด้านเวลาแทน

ถ้าเราต้องเข้าแถวเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เราก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่า เวลาจำนวนเท่านี้เราจะหาความสุขได้มากขนาดไหน

ถ้าหากที่แจกข้าวนี้ ไม่ได้แจกน้ำด้วย แล้วคุณก็สามารถคิดได้ทันทีว่า คนจะต้องหิวน้ำมาก คุณอาจใช้เวลา 1 ชม.ในการต่อแถวเพื่อรับข้าว มาขายน้ำให้กับคนที่อยู่ในคิว เงินที่คุณได้จากการขายน้ำนี้อาจจะทำให้คุณสามารถกินข้าวไปได้อีกหลายมื้อก็ได้

ดังนั้น คนที่จะกล้าพอที่จะต่อคุยยาวเหยียดได้ ก็จะต้องเป็นคนที่มีต้นทุนทางเวลาต่ำเท่านั้น คือ ไม่รู้จะเอาเวลาไปทำอะไรดี

เคยมีคนทำการประมาณการว่า บิล เกตส์ (เศรษฐีอันดับ 1 ของโลก) สามารถทำเงินได้เป็น 115 ดอลลาร์ต่อวินาที (ราว 4000 บาท) คุณคงรู้ได้ทันทีว่า บิล เกตส์คงไม่กล้าเสียเวลาเพื่อรับของฟรีอย่างแน่นอนใช่ไหมครับ

ถึงตรงนี้คุณก็คงจะรู้แล้วว่า มาตรการการแจกของ โดยที่ต้องการให้คนจนเป็นคนได้รับโดยที่คนรวยไม่ได้ประโยชน์คืออะไร

 

คนดีไม่มีที่อยู่

Slide5

สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ ค่าเสียโอกาสนี่เองที่เป็นสิ่งที่บงการความผิดชอบชั่วดีของเราอยู่ เราอาจเห็นว่าในปัจจุบันอัตราการก่ออาชญากรรมนั้นได้ลดลง แต่ก็ไม่สามารถกำจัดไปได้ นั่นเป็นเพราะ การเป็นคนดีนั้นมีต้นทุนที่สูง คือ การเป็นคนดีนั้นจะต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆอย่าง ต้องระวังทุกก้าวเดินในชีวิต เพราะ ความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว ก็จะทำให้เขาถูกมองในสายตาของทุกคนว่าเป็นคนเลวขึ้นมาทันที ในขณะที่คนเลวนั้นสามารถทำอะไรตามใจชอบได้มากกว่า

การเป็นคนดีจึงแลกมาด้วยความไม่มีอิสระในการทำอะไรหลายๆอย่าง ถ้าหากเราต้องการให้มีคนดีมากขึ้น เราก็ต้องยอมแลกด้วยการให้โอกาสลองผิดลองถูก เพื่อให้เขามีโอกาสที่จะเป็นคนดีที่มีอิสระในชีวิตมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็ควรเพิ่มต้นทุนของการเป็นคนเลว จะด้วยมาตรการทางจิตใจ สังคม หรือเศรษฐกิจก็แล้วแต่ (ปัญหาอยู่ที่เมื่อคนทำผิดแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนดีที่ไม่ได้ตั้งใจทำ หรือเป็นคนเลวที่จ้องแต่จะทำเรื่องแย่ๆ)

 

ภาษีดัดนิสัย

Slide6

ในทางเศรษฐศาสตร์ เราสามารถใช้เครื่องมือ เช่น มาตรการภาษี เข้ามาบิดเบือนการตัดสินใจของคน โดยที่ สิ่งใดที่ไม่ดีต่อบุคคล หรือ ต่อสังคมโดยรวม เราก็ต้องการให้มันมีน้อยลง

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของมาตรการภาษีอย่างภาษีบาปที่เพิ่มราคาของสินค้าเช่น สุรา บุหรี่ ให้แพงขึ้น การมีราคาแพงขึ้นนั้น ก็ย่อมหมายความว่า เงินที่นำไปใช้ซื้อสินค้าอื่นย่อมมีน้อยลง และทำให้การเลือกดื่มสุรานั้น จะต้องแลกไปด้วยสิ่งดีๆอื่นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ก็ไม่สามารถแก้ได้อย่างสมบูรณ์เพราะตราบใดที่คนยังต้องการดื่มอยู่ การได้ดื่มเพียงจำนวนน้อยถึงแม้จะราคาแพง ก็จะให้ความสุขต่อเม็ดเงินที่สูงมากจนทำให้เขายอมเสียสละได้ นอกจากนี้ สุรายังเป็นสิ่งเสพย์ติด ทำให้คนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเสียจากการไม่ดื่มสุรานั้นมีมากกว่าอะไรอย่างอื่นก็ตาม ทำให้ราคาที่เพิ่มขึ้นจะไม่สามารถทำให้ปริมาณการบริโภคลดลงได้ (กลับกัน ผู้บริโภคบางกลุ่มเลือกที่จะซื้อสุราราคาถูก หรือหนีกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้ดื่ม และ สังคมมากขึ้น)