จะขายของต้องทำอะไรบ้าง?

สร้างมูลค่าเพิ่ม

ในโลกการค้า ไม่ใช่ว่าของทุกอย่างจะสามารถขายได้ อากาศซึ่งมีอยู่ทั่วไปถ้าเอามาใส่ขวดขายก็คงไม่มีใครซื้อ แต่อากาศอัดกระป๋องที่นำมาเติมธาตุออกซิเจน หรือ ใส่กลิ่น (น้ำหอม) กลับสามารถขายได้ด้วยราคาแพง

สิ่งสำคัญประการแรกของการขายของคือ สิ่งๆนั้นจะต้องมีมูลค่าเพิ่ม มีคุณค่ากับผู้ซื้อ เช่น การซื้ออาหารถือเป็นการซื้อความสะดวกและรสชาติที่อร่อย การซื้อโทรศัพท์มือถือก็เป็นการซื้อความสามารถในการติดต่อสื่อสาร เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งของที่ขายจึงต้องผ่านขั้นตอนของการผลิต โดยนำปัจจัยการผลิตมาแปรรูปด้วย เทคโนโลยี วิธีการ หรือความสามารถเฉพาะตัวให้ออกมาเป็นสิ่งของใหม่ๆที่มีค่าต่อผู้ซื้อ

 

Slide1

 

ปัจจัยการผลิตมีกี่แบบ?

ปัจจัยการผลิตนั้นมีด้วยกัน 2 แบบ คือ ปัจจัยการผลิตที่ต้องใช้มาก/น้อยเมื่อเราต้องการขายสินค้าจำนวนมาก/น้อย และ ปัจจัยการผลิตที่มีจำนวนคงที่ไม่ว่าเราจะขายของจำนวนกี่ชิ้น

เช่น ถ้าเราเป็นร้านขายหมูปิ้ง ถ้าเราต้องการขายหมูปิ้งให้ได้มากๆ ก็ต้องใช้ หมู ไม้ เครื่องเทศ เวลา แรงงาน เสียงตะโกนเรียกลูกค้า จำนวนมากๆ แต่เรารถเข็น 1 คัน หรือมี ร้าน 1 ที่ ก็สามารถขายหมูปิ้งจำนวนเท่าไหร่ก็ได้

ราคาของปัจจัยที่เปลี่ยนไปตามจำนวนการผลิต ก็จะเป็นตัวกำหนดต้นทุนผันแปรของเรา ในขณะที่ราคาค่าเช่าร้าน หรือราคาของปัจจัยคงที่ก็จะเป็นตัวกำหนดต้นทุนคงที่ในการขายของนั่นเอง

สิ่งที่สำคัญก็คือเราจะต้องทำการลงทุน กำหนดปริมาณการขายโดยที่คำนึงถึงต้นทุนในการสร้างสินค้าของเราด้วย

 

Slide2

 

แล้วต้องลงทุนเท่าไหร่?

ปริมาณการลงทุนนอกจากจะขึ้นกับชนิดหรืออุตสาหกรรมที่เราต้องการเข้าไปทำการค้าแล้ว ยังต้องขึ้นกับปริมาณที่เราคิดว่าจะขายด้วย เช่น ถ้าเราต้องการทำธุรกิจขนส่งสินค้า เราก็ต้องคิดว่าเราจะส่งของจำนวนมากหรือน้อย ชิ้นใหญ่หรือเล็ก ระยะทางไกลหรือใกล้

การวางแผนธุรกิจนี้ก็จะเป็นตัวบอกเราว่า ธุรกิจขนส่งของเรานี้ อาจจะใช้แค่รถเข็นเล็กๆซึ่งมีราคาถูกก็เพียงพอแล้วเพราะเราจะส่งของเบา ระยะใกล้ และจำนวนไม่มาก แต่ถ้าเราต้องการส่งของไกลๆ เราเข็นรถเข็นไปก็คงไม่ไหว ต้นทุนค่าเสียเวลาของเรานั้นคงจะไม่คุ้มค่าเหนื่อยแน่นอน เราก็ต้องซื้อรถบรรทุกเพื่อที่จะได้ส่งของได้ทีละมากๆและระยะไกล

ประเด็นอยู่ที่ว่า ปริมาณการลงทุนกับต้นทุนต่อหน่วยนั้นจะไปในทางตรงกันข้าม ถ้าเราลงทุนน้อย เราก็ต้องใช้แรงเยอะ หรือใช้เวลาเยอะในการส่งของทำให้ต้นทุนส่งของต่อชิ้นแพงกว่าการที่เราขนของด้วยรถซึ่งการขนของ 1 รอบสามารถนำของไปด้วยได้จำนวนมากกว่ากันเป็นสิบๆเท่า และถ้าเรายิ่งขนของมากขึ้นในแต่ละรอบ ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนของเราถูกลงซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียนว่า การประหยัดต่อขนาด

 

Slide3

 

แล้วสรุปว่าจะต้องขายเท่าไหร่?

ถ้าเราต้องการขายของ เราก็ต้องมีเป้าหมายของสิ่งที่อยากได้ และสิ่งที่คนต้องการจากการค้าขายมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “กำไร” เพื่อที่จะเป็นเศรษฐีเงินล้านกันสักวันหนึ่ง

กำไรก็คิดคำนวณได้ง่ายๆ คือ เราขายของได้เท่าไหร่ หักออกด้วยต้นทุนที่เราใช้ไป สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือกำไร โจทย์ก็ง่ายคือ เราจะทำยังไงให้รายได้มีเยอะๆ และมีต้นทุนน้อยๆ และทำให้ส่วนต่างของรายได้กับต้นทุนห่างกันมากที่สุด

 

Slide5

 

แต่ถ้าคิดจากต้นทุนรวมคุณจะไม่รวยที่สุด

เมื่อลงทุนผลิตสินค้าอะไรสักอย่างแล้ว ต้นทุนที่คงที่ต่างๆเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาคิดแล้ว เรื่องนี้ก็ตรงไปตรงมา เพราะ ถ้าเราลงทุนไป 1000 บาทเป็นปัจจัยคงที่ เช่น เช่าร้าน และของที่เราจะขายมีต้นทุนชิ้นละ 10 บาท สามารถขายได้ชิ้นละ 20 บาท ในกรณีดังกล่าวนี้เราก็ต้องพยายามขายให้ได้จำนวนชิ้นมากที่สุด เพราะการที่เราไม่ขายเลยเราก็ต้องจ่าย 1000 บาทนั้นไปอยู่ดี แต่ถ้าเราขายได้ก็จะทำให้กำไรของเราเพิ่มขึ้นเป็น -990, -980,… และถ้าเราขายดีจริงๆ เราก็จะสามารถพลิกเลขติดลบนี้ขึ้นมาเป็นบวกได้ ซึ่งก็หมายความว่าเราได้กำไรจากการลงทุนครั้งนี้แล้ว

 

Slide6

 

แต่ถ้าเราจะขายได้จำนวนมากจริงๆ สุดท้ายแล้วต้นทุนต่อหน่วยก็จะสูงขึ้น เช่น การขายของ 100 ชิ้น อาจจะไม่ยากมาก แต่ถ้าเราต้องขายของแบบเดียวกันนี้ 10,000 ชิ้น เราก็อาจจะต้องมีการโฆษณา มีการลด แลก แจก แถม ซึ่งทำให้ต้นทุนแพงขึ้น  ไม่ก็มีราคาต่อชิ้นต่ำลง สุดท้ายเราก็ต้องหาจุดสมดุลที่จะเลือกขายสินค้าอย่างพอดีๆ และสร้างเส้นทางสู่เงินล้านของตัวเอง

 

แรงจูงใจ…พลังที่ขับเคลื่อนทุกสิ่ง

จากความฝันสู่ความเป็นจริง

เราทุกคนคงมีความฝัน เป้าหมาย สิ่งที่ตนเองอยากได้หรืออยากมี ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ หรือเป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน แต่ความต้องการเหล่านี้เองที่เป็นจุดตั้งต้นให้เราตั้งใจทำอะไรสักอย่างอย่างจริงจัง เพื่อให้ไปถึงจุดหมายที่เราวาดฝันไว้

แรงจูงใจเป็นแรงผลักดัน หรือตัวกระตุ้น ให้เราทำหรือไม่ทำอะไรเพื่อให้บรรลุความฝันของตัวเอง เช่น

– หากเราต้องการรวย แรงจูงใจในการอยากรวยก็จะทำให้เราขยันทำงาน ศึกษาเรื่องราวการทำธุรกิจ หรือการลงทุนเพื่อให้แรงงาน/เงินออมของเราสามารถออกดอกออกผลและต่อยอดให้เรา มีกินมีใช้อย่างสุขสบาย

– เมื่อตอนที่เราเป็นเด็ก เราอาจเคยอยากวาดรูปเก่ง ซึ่งก็เป็นแรงผลักดันให้หลายๆคนหมกมุ่นและใช้เวลากับการวาดรูปได้ทั้งวันโดยที่อาจจะลืมกินข้าวไปเลยด้วยซ้ำ

Slide1

หากเปรียบชีวิตเหมือนการวิ่ง แรงจูงใจในที่นี้ก็คือ เส้นชัย เพื่อเติมเต็มความต้องการเราจึงต้องออกวิ่งเพื่อไปถึงเส้นชัยได้โดยเร็วที่สุด ถ้าทุกอย่างราบลื่นเราสามารถวิ่งไปถึงเส้นชัยได้โดยง่ายก็คงเป็นเรื่องดี แต่ชีวิตมักจะไม่ง่ายแบบนั้น ทุกคนก็ต่างต้องพบกับข้อจำกัดต่างๆนาๆที่จะทำให้เราวิ่งไปไม่ถึงเส้นชัยเสียที ถ้าหากใช้ตัวอย่างเดิม ข้อจำกัดเหล่านั้นก็เปรียบเหมือนร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เราไม่สามารถวิ่งได้อย่างเต็มที่นั่นเอง สุดท้ายเราบางคนอาจจะเลือกวิ่งให้เร็วและเมื่อเหนื่อยก็พักผ่อน หรือบางคนก็อาจเลือกที่จะเดินไปเรื่อยๆอย่างคงที่ คือ แต่ละคนก็จะมีวิธีการไปสู่เส้นชัยตามแบบฉบับที่ตัวเองชอบ

Slide2

มากเท่าไหร่จึงเรียกว่าฟิน?

สมมติว่า ถ้าหากตอนนี้เป้าหมายของเราคือความสุขที่ได้จากการทำอะไรซ้ำๆ เช่น ดูละคร คำถามที่ตามมาก็คือเราควรจะดูละครมากเท่าไหร่ถึงจะดี

แน่นอนว่าคนที่ชอบดูละครก็จะต้องได้รับความสุขเพิ่มขึ้นจากการดูละคร ยิ่งดูไป 1 ตอน ก็ยิ่งอยากดูตอนที่ 2 แต่หลายๆครั้ง เมื่อทำอะไรซ้ำๆ ก็จะเริ่มถึงจุดอิ่มตัว หรือเกิดความเบื่อหน่ายขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การลดลงของผลได้ และเมื่อการกระทำของเรามีต้นทุน เมื่อเราดูละครมากจนเกินไป ก็จะทำให้ความสุขลดลงได้เช่นกัน

ดังนั้นแล้ว จุดที่ดีที่สุดคืออะไร จุดนั้นก็คือ จุดที่เรายังคงรู้สึกคุ้มค่ากับมันเป็นหน่วยสุดท้าย ความสุขทั้งหมดที่เราได้ก็คือ ความสุข-ต้นทุน ของทุกๆหน่วยมารวมกัน และถ้าหากเราเลือกดูละครเพิ่มขึ้นอีก 1 ตอน จะทำให้ความสุขของเราลดลง (เนื่องจากต้นทุนในการดูละครในตอนสุดท้ายนี้สูงเกินกว่าสิ่งที่ได้รับเสียแล้ว)

ความฟินของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไปตามความชอบ เช่น ถ้าหากคนที่ชอบดูละครมากๆ จุดดังกล่าวอาจะเลื่อนไปเป็น ตอนที่ 20 หรือ 30 ในขณะที่คนที่ไม่ค่อยชอบดูละครนั้นอาจจะฟินตั้งแต่ตอนที่ 3 แล้วก็เป็นได้

กฎการลดลงของผลได้นี้เกิดขึ้นเสมอและเกิดขึ้นกับทุกเรื่อง และเราจะต้องเสียทรัพยากรในวิ่งที่เราเลือกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดูละครซึ่งใช้ทรัพยากรด้านเวลา หรือการซื้อของซึ่งต้องใช้ทรัพยากรด้านตัวเงิน หรือแม้แต่การดื่มสุราซึ่งทรัพยากรที่ต้องเสียไปก็คือสุขภาพ ซึ่งก็เปรียบได้กับว่า ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีราคาของมัน

Slide3

ทำไมต้องราคา?

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น สิ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดมักหนีไม่พ้นราคา แต่ทำไมนักเศรษฐศาสตร์หลายคนจึงต้องหมกมุ่นอะไรกับราคามากนัก? คำตอบหนึ่งก็คือ ราคานั้นเป็นตัวที่มีความเชื่องโยงกับ แรงจูงใจ ของคนจำนวนมาก ในโลกที่ทุกอย่างสามารถแปลงให้เป็นสินค้าได้(ไม่ก็พยายามแปลงอยู่) ก็จะต้องมีการซื้อขาย และราคาก็เป็นตัวสะท้อนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งมีมากหน้าหลายตานับไม่ถ้วน

ในด้านผู้ซื้อ ราคาเป็นตัวสะท้อนต้นทุน เมื่อของที่มีราคาแพง ก็จะทำให้กำลังซื้อของเราลดลง ผลก็คือทำให้เราเลือกซื้อน้อยลง(ถึงแม้เราอยากซ์้อมันใจจะขาด) แต่ในทางกลับกัน ราคาที่สูงขึ้นก็จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตนั้นอยากขายออกมาให้ได้มากๆ เพราะสินค้าทุกชิ้นที่ขายได้นั้นมีกำไรต่อหน่วยที่สูงขึ้น

ราคาของสินค้าชนิดหนึ่งยังสามารถกระทบไปยังสินค้าชนิดอื่นๆอย่างเป็นระบบ เช่น เมื่อราคาข้าวแพง ก็จะทำให้ราคาขนมปังแพงขึ้นเพราะคนเลือกที่จะกินขนมปังทดแทน แต่ในขณะเดียวกัน ราคากับข้าวก็จะลดลง เพราะคนที่ซื้อข้าวกินกับกับข้าวนั้นมีกำลังซื้อลดลง

Slide4

ปล้นแบงค์หรือปล้นคนแก่?

แรงจูงใจนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องดีๆ หรือ การหาเงิน การซื้อ-ขายของ เท่านั้น แต่มันยังเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในสังคมได้มากมายเช่นกัน แรงจูงใจที่ต้องการรวยของคนที่ไม่มีโอกาสทำงาน จะแสดงออกด้วยการทำสิ่งที่ผิดต่อสังคม เช่น การปล้น

การปล้นนั้นผู้ร้ายสามารถเลือกเป้าหมายได้ว่าจะปล้นใคร ด้วยวิธีการอะไร โดยเป้าหมายแต่ละประเภทก็จะมีผลได้และผลเสียที่แตกต่างกันอยู่บ้าง

– การปล้นธนาคารก็อาจทำให้ได้เงินเยอะมากในคราวเดียว สามารถกินอิ่มไปได้อีกนาน แต่ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงในการโดนจับก็มีสูงและอาจโดนข้อหาที่มีความรุนแรงมากด้วย

– ในทางตรงข้าม หากเราเลือกปล้นคนชรา โอกาสที่เขาจะสามารถป้องกันตัวเอง หรือไปแจ้งความแล้วมีคนตามจับเราได้นั้นน้อยกว่าการปล้นธนาคารมาก แต่เราอาจพบกับความไม่แน่นอนว่าจะปล้นแล้วได้เงินมาซักเท่าไหร่

Slide5

ความขัดแย้งของสังคม

นอกจากแรงจูงใจจะเป็นตัวขับเคลื่อนสิ่งที่ดีและไม่ดีในระดับบุคคลแล้ว ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบในระดับสังคมวงกว้างได้ด้วย เช่น ความขัดแย้งของ คน 2กลุ่ม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ความขัดแย้งในการพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การสร้างท่าเรือทางภาคใต้นั้นเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่การสร้างท่าเรือเท่ากับการทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยและทำมาหากินกับมันมาหลายรุ่น ด้วยแรงจูงใจที่ไม่ตรงกัน (ไม่ได้บอกว่าใครไม่ดี) จึงทำให้เกิดการถกเถียงถึงความคุ้มค่าและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคม

Slide6

แต่ในทางปฏิบัตินั้น การถกเถียงกันมักนำมาซึ่งการใช้อำนาจและเส้นสายที่มีไม่เท่าเทียมกัน คือ ฝั่งนายทุนนั้นก็มักใช้อำนาจสั่งการหรือใช้เงินเพื่อผลักดันโครงการต่างๆให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว (อย่าลืมว่าเวลาก็มีต้นทุน) แต่ในฝั่งชาวบ้านซึ่งมักถูกละเลยโดยเจ้าหน้าที่ ก็จะต้องใช้วิธีการเช่นการประท้วงและการขัดขวางการดำเนินงานเพื่อไม่ให้สิ่งที่ตนเองยึดถือนั้นถูกทำลายลง

ปัญหาที่ว่ามานี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นมาโดยตลอด บางครั้งฝั่งนายทุนก็เป็นฝ่ายชนะ แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งไป ในบางพื้นที่ชาวบ้านก็สามารถขัดขวางได้อย่างแข็งแกร่งและแสดงให้เห็นว่าเงินก็ไม่ได้สามารถเสกได้ทุกอย่าง

ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ

เพราะเรามีไม่พอ

สิ่งที่เรามี ก็หมายถึง ทรัพยากรต่างๆที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเงิน/เวลา/ความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าและทุกคนก็มีความต้องการ เพราะสิ่งเหล่านี้ เราสามารถนำไปใช้ นำไปต่อยอด เพื่อให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“ไม่มีเวลา” เป็นสิ่งที่ใครๆก็พูด ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ทุกคนก็มีเวลาเท่ากัน คือ ไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่ เพราะ เราทุกคนก็มีเวลา 24 ชม.ในแต่ละวัน แต่เราไม่รู้ว่ามีเวลาอยู่กี่วันกันแน่ (ชีวิตเดินอยู่บนความเสี่ยงน่ะครับ) แต่ เราทุกคนก็มีกิจกรรมที่อยากทำมากมาย ตั้งแต่การนอน การท่องเที่ยว การเรียนรู้ การช่วยเหลือสังคม หรือการพยายามค้นหาอะไรที่สูงส่งยิ่งกว่านั้น

ทุกกิจกรรมที่เราอยากทำนั้นล้วนแต่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงต้องมีการจัดการทรัพยากรเพื่อให้ถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Slide1

 

ต้นทุนค่าเสียโอกาส – เครื่องมือในการเปรียบเทียบ

เพื่อให้เราจัดการทรัพยากรได้ดีที่สุด เราก็ต้องเปรียบเทียบ ต้นทุน ในการใช้ทรัพยากรที่ขาดแคลน

ยกตัวอย่างเช่น กลางวันของวันหนึ่ง เรามีเงินพอที่จะซื้อข้าวเที่ยงได้เพียง 1 อย่าง แต่ว่ามีให้เราเลือกระหว่าง 1. ข้าวแกง และ 2. ก๋วยเตี๋ยว เราจะตัดสินใจระหว่าง 2 อย่างนี้อย่างไร?

Slide2

หากเราเลือกข้าว สิ่งที่เรากำลังจะเสียไปก็คือ ความสุขจากการทานก๋วยเตี๋ยว (เพราะเรามีเงินซื้อได้เพียง 1 อย่าง) ในทางกลับกัน เมื่อเราเลือกซื้อก๋วยเตี๋ยว สิ่งที่เรากำลังจะเสียไปก็คือ ความสุขที่ได้จากการกินข้าวนั่นเอง ค่าเสียโอกาสนี้ก็คือ ความสุขที่จะไม่ได้รับ ไม่ใช่เงินที่เราเสียไป

นอกจากนี้ ถ้าหากเวลากินข้าวมีจำกัดด้วย เราก็ต้องทำการเปรียบเทียบอีกว่า การกินข้าวกับก๋วยเตี๋ยวนั้น จะทำให้เราเสียโอกาสในการนอนงีบช่วงกลางวัน หรือนั่งพูดคุยผ่อนคลายกับเพื่อนๆไปมากเท่าใด

ด้วยหลักการเดียวกันนี้ ก็ได้ทำให้ประเทศอังกฤษสามารถผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งการค้าในช่วงยุคบุกเบิก ที่ประเทศอังกฤษ เลือกที่จะผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และซื้อสินค้าประเภทอาหาร เพราะ อังกฤษมีค่าเสียโอกาสในการใช้คนเพื่อปลูกข้าว มากกว่าการผลิตเสื้อนั่นเอง (แม้ว่าจริงๆแล้ว อังกฤษจะเป็นประเทศที่สามารถผลิตสินค้าแทบทุกอย่างได้เก่งกว่าประเทศอื่นๆ)

 

แจกข้าวฟรี (จริงหรือ)

Slide3

ในสำนวนภาษาอังกฤษ คนมักพูดว่า There is no Free Lunch หรือถ้าแปลไทยก็คือ ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ หลายคนก็จะเริ่มสงสัย เพราะที่ผ่านมา ก็เห็นว่ามีหลายที่ที่มีการแจกอาหารให้กับคนฟรีๆ อิ่มท้องแถมตังค์ยังอยู่ครบ แล้วมันจะไม่ฟรีได้อย่างไร?

คำตอบคือ

.

.

.

.

.

.

.

.

คิวต่อแถวที่ยาวมากกกกกกกกกก

Slide4

เพราะไม่ต้องเสียเงินเพื่อรับอาหาร ทำให้สามารถลดต้นทุนที่เป็นตัวเงินออกไปได้ ดังนั้น คนจึงเข้ามาต่อแถวมากขึ้น แต่เมื่อแถวยาว ก็ได้ทำให้เกิดต้นทุนทางด้านเวลาแทน

ถ้าเราต้องเข้าแถวเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เราก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่า เวลาจำนวนเท่านี้เราจะหาความสุขได้มากขนาดไหน

ถ้าหากที่แจกข้าวนี้ ไม่ได้แจกน้ำด้วย แล้วคุณก็สามารถคิดได้ทันทีว่า คนจะต้องหิวน้ำมาก คุณอาจใช้เวลา 1 ชม.ในการต่อแถวเพื่อรับข้าว มาขายน้ำให้กับคนที่อยู่ในคิว เงินที่คุณได้จากการขายน้ำนี้อาจจะทำให้คุณสามารถกินข้าวไปได้อีกหลายมื้อก็ได้

ดังนั้น คนที่จะกล้าพอที่จะต่อคุยยาวเหยียดได้ ก็จะต้องเป็นคนที่มีต้นทุนทางเวลาต่ำเท่านั้น คือ ไม่รู้จะเอาเวลาไปทำอะไรดี

เคยมีคนทำการประมาณการว่า บิล เกตส์ (เศรษฐีอันดับ 1 ของโลก) สามารถทำเงินได้เป็น 115 ดอลลาร์ต่อวินาที (ราว 4000 บาท) คุณคงรู้ได้ทันทีว่า บิล เกตส์คงไม่กล้าเสียเวลาเพื่อรับของฟรีอย่างแน่นอนใช่ไหมครับ

ถึงตรงนี้คุณก็คงจะรู้แล้วว่า มาตรการการแจกของ โดยที่ต้องการให้คนจนเป็นคนได้รับโดยที่คนรวยไม่ได้ประโยชน์คืออะไร

 

คนดีไม่มีที่อยู่

Slide5

สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ ค่าเสียโอกาสนี่เองที่เป็นสิ่งที่บงการความผิดชอบชั่วดีของเราอยู่ เราอาจเห็นว่าในปัจจุบันอัตราการก่ออาชญากรรมนั้นได้ลดลง แต่ก็ไม่สามารถกำจัดไปได้ นั่นเป็นเพราะ การเป็นคนดีนั้นมีต้นทุนที่สูง คือ การเป็นคนดีนั้นจะต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆอย่าง ต้องระวังทุกก้าวเดินในชีวิต เพราะ ความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว ก็จะทำให้เขาถูกมองในสายตาของทุกคนว่าเป็นคนเลวขึ้นมาทันที ในขณะที่คนเลวนั้นสามารถทำอะไรตามใจชอบได้มากกว่า

การเป็นคนดีจึงแลกมาด้วยความไม่มีอิสระในการทำอะไรหลายๆอย่าง ถ้าหากเราต้องการให้มีคนดีมากขึ้น เราก็ต้องยอมแลกด้วยการให้โอกาสลองผิดลองถูก เพื่อให้เขามีโอกาสที่จะเป็นคนดีที่มีอิสระในชีวิตมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็ควรเพิ่มต้นทุนของการเป็นคนเลว จะด้วยมาตรการทางจิตใจ สังคม หรือเศรษฐกิจก็แล้วแต่ (ปัญหาอยู่ที่เมื่อคนทำผิดแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนดีที่ไม่ได้ตั้งใจทำ หรือเป็นคนเลวที่จ้องแต่จะทำเรื่องแย่ๆ)

 

ภาษีดัดนิสัย

Slide6

ในทางเศรษฐศาสตร์ เราสามารถใช้เครื่องมือ เช่น มาตรการภาษี เข้ามาบิดเบือนการตัดสินใจของคน โดยที่ สิ่งใดที่ไม่ดีต่อบุคคล หรือ ต่อสังคมโดยรวม เราก็ต้องการให้มันมีน้อยลง

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของมาตรการภาษีอย่างภาษีบาปที่เพิ่มราคาของสินค้าเช่น สุรา บุหรี่ ให้แพงขึ้น การมีราคาแพงขึ้นนั้น ก็ย่อมหมายความว่า เงินที่นำไปใช้ซื้อสินค้าอื่นย่อมมีน้อยลง และทำให้การเลือกดื่มสุรานั้น จะต้องแลกไปด้วยสิ่งดีๆอื่นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ก็ไม่สามารถแก้ได้อย่างสมบูรณ์เพราะตราบใดที่คนยังต้องการดื่มอยู่ การได้ดื่มเพียงจำนวนน้อยถึงแม้จะราคาแพง ก็จะให้ความสุขต่อเม็ดเงินที่สูงมากจนทำให้เขายอมเสียสละได้ นอกจากนี้ สุรายังเป็นสิ่งเสพย์ติด ทำให้คนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเสียจากการไม่ดื่มสุรานั้นมีมากกว่าอะไรอย่างอื่นก็ตาม ทำให้ราคาที่เพิ่มขึ้นจะไม่สามารถทำให้ปริมาณการบริโภคลดลงได้ (กลับกัน ผู้บริโภคบางกลุ่มเลือกที่จะซื้อสุราราคาถูก หรือหนีกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้ดื่ม และ สังคมมากขึ้น)