ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ

เพราะเรามีไม่พอ

สิ่งที่เรามี ก็หมายถึง ทรัพยากรต่างๆที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเงิน/เวลา/ความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าและทุกคนก็มีความต้องการ เพราะสิ่งเหล่านี้ เราสามารถนำไปใช้ นำไปต่อยอด เพื่อให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“ไม่มีเวลา” เป็นสิ่งที่ใครๆก็พูด ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ทุกคนก็มีเวลาเท่ากัน คือ ไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่ เพราะ เราทุกคนก็มีเวลา 24 ชม.ในแต่ละวัน แต่เราไม่รู้ว่ามีเวลาอยู่กี่วันกันแน่ (ชีวิตเดินอยู่บนความเสี่ยงน่ะครับ) แต่ เราทุกคนก็มีกิจกรรมที่อยากทำมากมาย ตั้งแต่การนอน การท่องเที่ยว การเรียนรู้ การช่วยเหลือสังคม หรือการพยายามค้นหาอะไรที่สูงส่งยิ่งกว่านั้น

ทุกกิจกรรมที่เราอยากทำนั้นล้วนแต่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงต้องมีการจัดการทรัพยากรเพื่อให้ถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Slide1

 

ต้นทุนค่าเสียโอกาส – เครื่องมือในการเปรียบเทียบ

เพื่อให้เราจัดการทรัพยากรได้ดีที่สุด เราก็ต้องเปรียบเทียบ ต้นทุน ในการใช้ทรัพยากรที่ขาดแคลน

ยกตัวอย่างเช่น กลางวันของวันหนึ่ง เรามีเงินพอที่จะซื้อข้าวเที่ยงได้เพียง 1 อย่าง แต่ว่ามีให้เราเลือกระหว่าง 1. ข้าวแกง และ 2. ก๋วยเตี๋ยว เราจะตัดสินใจระหว่าง 2 อย่างนี้อย่างไร?

Slide2

หากเราเลือกข้าว สิ่งที่เรากำลังจะเสียไปก็คือ ความสุขจากการทานก๋วยเตี๋ยว (เพราะเรามีเงินซื้อได้เพียง 1 อย่าง) ในทางกลับกัน เมื่อเราเลือกซื้อก๋วยเตี๋ยว สิ่งที่เรากำลังจะเสียไปก็คือ ความสุขที่ได้จากการกินข้าวนั่นเอง ค่าเสียโอกาสนี้ก็คือ ความสุขที่จะไม่ได้รับ ไม่ใช่เงินที่เราเสียไป

นอกจากนี้ ถ้าหากเวลากินข้าวมีจำกัดด้วย เราก็ต้องทำการเปรียบเทียบอีกว่า การกินข้าวกับก๋วยเตี๋ยวนั้น จะทำให้เราเสียโอกาสในการนอนงีบช่วงกลางวัน หรือนั่งพูดคุยผ่อนคลายกับเพื่อนๆไปมากเท่าใด

ด้วยหลักการเดียวกันนี้ ก็ได้ทำให้ประเทศอังกฤษสามารถผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งการค้าในช่วงยุคบุกเบิก ที่ประเทศอังกฤษ เลือกที่จะผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และซื้อสินค้าประเภทอาหาร เพราะ อังกฤษมีค่าเสียโอกาสในการใช้คนเพื่อปลูกข้าว มากกว่าการผลิตเสื้อนั่นเอง (แม้ว่าจริงๆแล้ว อังกฤษจะเป็นประเทศที่สามารถผลิตสินค้าแทบทุกอย่างได้เก่งกว่าประเทศอื่นๆ)

 

แจกข้าวฟรี (จริงหรือ)

Slide3

ในสำนวนภาษาอังกฤษ คนมักพูดว่า There is no Free Lunch หรือถ้าแปลไทยก็คือ ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ หลายคนก็จะเริ่มสงสัย เพราะที่ผ่านมา ก็เห็นว่ามีหลายที่ที่มีการแจกอาหารให้กับคนฟรีๆ อิ่มท้องแถมตังค์ยังอยู่ครบ แล้วมันจะไม่ฟรีได้อย่างไร?

คำตอบคือ

.

.

.

.

.

.

.

.

คิวต่อแถวที่ยาวมากกกกกกกกกก

Slide4

เพราะไม่ต้องเสียเงินเพื่อรับอาหาร ทำให้สามารถลดต้นทุนที่เป็นตัวเงินออกไปได้ ดังนั้น คนจึงเข้ามาต่อแถวมากขึ้น แต่เมื่อแถวยาว ก็ได้ทำให้เกิดต้นทุนทางด้านเวลาแทน

ถ้าเราต้องเข้าแถวเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เราก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่า เวลาจำนวนเท่านี้เราจะหาความสุขได้มากขนาดไหน

ถ้าหากที่แจกข้าวนี้ ไม่ได้แจกน้ำด้วย แล้วคุณก็สามารถคิดได้ทันทีว่า คนจะต้องหิวน้ำมาก คุณอาจใช้เวลา 1 ชม.ในการต่อแถวเพื่อรับข้าว มาขายน้ำให้กับคนที่อยู่ในคิว เงินที่คุณได้จากการขายน้ำนี้อาจจะทำให้คุณสามารถกินข้าวไปได้อีกหลายมื้อก็ได้

ดังนั้น คนที่จะกล้าพอที่จะต่อคุยยาวเหยียดได้ ก็จะต้องเป็นคนที่มีต้นทุนทางเวลาต่ำเท่านั้น คือ ไม่รู้จะเอาเวลาไปทำอะไรดี

เคยมีคนทำการประมาณการว่า บิล เกตส์ (เศรษฐีอันดับ 1 ของโลก) สามารถทำเงินได้เป็น 115 ดอลลาร์ต่อวินาที (ราว 4000 บาท) คุณคงรู้ได้ทันทีว่า บิล เกตส์คงไม่กล้าเสียเวลาเพื่อรับของฟรีอย่างแน่นอนใช่ไหมครับ

ถึงตรงนี้คุณก็คงจะรู้แล้วว่า มาตรการการแจกของ โดยที่ต้องการให้คนจนเป็นคนได้รับโดยที่คนรวยไม่ได้ประโยชน์คืออะไร

 

คนดีไม่มีที่อยู่

Slide5

สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ ค่าเสียโอกาสนี่เองที่เป็นสิ่งที่บงการความผิดชอบชั่วดีของเราอยู่ เราอาจเห็นว่าในปัจจุบันอัตราการก่ออาชญากรรมนั้นได้ลดลง แต่ก็ไม่สามารถกำจัดไปได้ นั่นเป็นเพราะ การเป็นคนดีนั้นมีต้นทุนที่สูง คือ การเป็นคนดีนั้นจะต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆอย่าง ต้องระวังทุกก้าวเดินในชีวิต เพราะ ความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว ก็จะทำให้เขาถูกมองในสายตาของทุกคนว่าเป็นคนเลวขึ้นมาทันที ในขณะที่คนเลวนั้นสามารถทำอะไรตามใจชอบได้มากกว่า

การเป็นคนดีจึงแลกมาด้วยความไม่มีอิสระในการทำอะไรหลายๆอย่าง ถ้าหากเราต้องการให้มีคนดีมากขึ้น เราก็ต้องยอมแลกด้วยการให้โอกาสลองผิดลองถูก เพื่อให้เขามีโอกาสที่จะเป็นคนดีที่มีอิสระในชีวิตมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็ควรเพิ่มต้นทุนของการเป็นคนเลว จะด้วยมาตรการทางจิตใจ สังคม หรือเศรษฐกิจก็แล้วแต่ (ปัญหาอยู่ที่เมื่อคนทำผิดแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนดีที่ไม่ได้ตั้งใจทำ หรือเป็นคนเลวที่จ้องแต่จะทำเรื่องแย่ๆ)

 

ภาษีดัดนิสัย

Slide6

ในทางเศรษฐศาสตร์ เราสามารถใช้เครื่องมือ เช่น มาตรการภาษี เข้ามาบิดเบือนการตัดสินใจของคน โดยที่ สิ่งใดที่ไม่ดีต่อบุคคล หรือ ต่อสังคมโดยรวม เราก็ต้องการให้มันมีน้อยลง

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของมาตรการภาษีอย่างภาษีบาปที่เพิ่มราคาของสินค้าเช่น สุรา บุหรี่ ให้แพงขึ้น การมีราคาแพงขึ้นนั้น ก็ย่อมหมายความว่า เงินที่นำไปใช้ซื้อสินค้าอื่นย่อมมีน้อยลง และทำให้การเลือกดื่มสุรานั้น จะต้องแลกไปด้วยสิ่งดีๆอื่นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ก็ไม่สามารถแก้ได้อย่างสมบูรณ์เพราะตราบใดที่คนยังต้องการดื่มอยู่ การได้ดื่มเพียงจำนวนน้อยถึงแม้จะราคาแพง ก็จะให้ความสุขต่อเม็ดเงินที่สูงมากจนทำให้เขายอมเสียสละได้ นอกจากนี้ สุรายังเป็นสิ่งเสพย์ติด ทำให้คนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเสียจากการไม่ดื่มสุรานั้นมีมากกว่าอะไรอย่างอื่นก็ตาม ทำให้ราคาที่เพิ่มขึ้นจะไม่สามารถทำให้ปริมาณการบริโภคลดลงได้ (กลับกัน ผู้บริโภคบางกลุ่มเลือกที่จะซื้อสุราราคาถูก หรือหนีกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้ดื่ม และ สังคมมากขึ้น)

 

 

เศรษฐศาสตร์คืออะไร?

เศรษฐศาสตร์ (Economics) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับสังคมและมนุษย์ที่ว่าด้วยเรื่องของการจัดการ ตลอดจนการ
พยายามเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นด้วยหลักของเหตุและผล ใช้ความคิดอย่างมีตรรกะ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่
ดีขึ้นในอนาคต
 
 
ที่มาของเศรษฐศาสตร์
 
Slide1
 
หลายคนกล่าวว่าเศรษฐศาสตร์เริ่มต้นจาก Adam Smith ในช่วงอังกฤษรุ่งเรือง แต่จริงๆแล้วรากฐานของ
เศรษฐศาสตร์นั้นย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นนับพันปี โดยเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรีก ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง oikos
(ครัวเรือน) และ nomos(กฎ) ออกมาเป็น oikonomia(การจัดการครัวเรือน)ซึ่งพูดถึงหลักการในการใช้ชีวิต
และบริหารทรัพย์สินของผู้คน

นั่นหมายความว่า จริงๆแล้ว เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาใหม่อะไร และก็ไม่ใช่ที่วิชาที่มีความซับซ้อน เพราะตั้งแต่
มนุษย์เริ่มเป็นสัตว์สังคมอยู่ร่วมกันแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์ ก็ถูกนำเข้ามาใช้โดยไม่รู้ตัว แต่ได้รับการทำให้
เป็นรูปเป็นร่างของ วิชาของการจัดการทรัพยากรต่างๆของมนุษย์ในยุครุ่งเรืองของอังกฤษ  
 
  
ต้องจัดการทรัพยากรชนิดใด
 
Slide2
 
ทรัพยากรในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง อะไรก็ตามที่เรามี ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่เงิน แต่กินความกว้างถึงสิ่งที่มี
อยู่ทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เช่น เครื่องไม้เครื่องมือ ความรู้ ความชำนาญการ รวมถึงเทคนิคในการผสม
ผสานสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน เมื่อเทียบกับความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอยู่อย่างไม่จำกัด ถือว่าทรัพยากรต่างๆ
เหล่านี้มีไม่เพียงพอ หรือมีความขาดแคลนต่อทรัพยากร คำถามที่เศรษฐศาสตร์สนใจก็คือ 
ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างขาดแคลนนี้ควรจะถูกใช้อย่างไรเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
  
Slide3
 
หลักการอย่างง่ายและมีเหตุผลสำหรับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ก็คือ เราก็ควรใช้ทรัพยากรไปกับสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด
ซึ่งก็หมายความว่า เงินที่เราจ่ายออกไปเวลาซื้อของจะต้องจ่ายเพื่อความสุขสูงสุด สำหรับเงินทุกบาท
ทุกสตางค์ที่จ่ายออกไป
 
  
ตัวอย่าง Slide4
 
ตัวอย่างที่ง่ายและใกล้ตัวที่สุดก็คือ การจัดการกับเวลา ทุกๆคนมีทรัพยากรด้านเวลาเท่ากันในแต่ละวันคือ 
24 ชม. แต่การจะใช้ทรัพยากรนี้จะแตกต่างกันตามมูลค่าที่แต่ละคนให้กับกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นการจัดสรร
เวลาที่มี ก็จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างความสุขสูงสุด โดย
แบ่งเวลา สำหรับการพักผ่อน และการทำงานอย่างเหมาะสม เพื่อให้แต่ละคนกินอิ่มนอนหลับมากน้อยตามต้องการ
 
Slide5
 
ตัวอย่างของการจัดสรรทรัพยากรอีกอย่างก็คือ ที่ดิน เช่น หากเรามีที่ดินจำนวนหนึ่ง เราก็ต้องเลือกว่า จะใช้ที่ดิน
ทำอะไร เพื่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด (ทั้งรายได้ และมูลค่า) เพื่อให้ที่ดินอันน้อยนิดของเรานี้สามารถสร้างเงินให้
เราหาซื้อทรัพยากรมาเพิ่มเติมได้ โดยหลักแล้ว ทุกๆสิ่งในโลกล้วนแต่มีเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนประชากร ความต้องการ
สินค้า การขยายกำลังการผลิต แต่สิ่งที่แทบจะไม่สามารถหาเพิ่มได้เลยก็คือที่ดิน ดังนั้น ที่ดินจึงเป็นทรัพยากรที่มี
ความขาดแคลน รวมถึงสามารถสร้างคุณค่าในตนเอง จึงเป็นที่มาว่าทำไมราคาที่ดินจึงแพงลิบ และมีแต่ผู้คนให้
ความสำคัญกับมัน
 
 
ตลาดและกลไกราคา Slide6
 
เมื่อมีทรัพยากร และมีผู้ที่ต้องการทรัพยากร ก็จะทำให้เกิดการผลิต การซื้อขายขึ้นตามอัตโนมัติ คือ เมื่อมีสิ่งใด
ที่คนอยากได้และต้นทุนในการสร้างมันขึ้นมาไม่สูงจนเกินไป ก็จะต้องมีผู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการนั้นๆ 
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายก็คือ ตลาด และเงินที่จ่ายสำหรับสินค้า 1 ชิ้น ก็คือ ราคา ราคาจะขึ้นหรือ
ลงอย่างไรนั้น ก็ขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า กลไกตลาด เมื่อมีความต้องการมากๆ หรือมีคนขายในปริมาณน้อย ก็ย่อม
ทำให้มีราคาสูง และเมื่อใดที่มีความต้องการน้อย หรือมีคนขายกันเต็มไปหมด ก็ย่อมทำให้ราคาลดลง และนี่เป็น
สัจธรรมของโลก
 
 
เศรษฐกิจภาพรวม 
 
Slide7
 
เมื่อเราถอยหลังออกมามองให้ไกลขึ้น เราก็จะเห็นว่าในโลกของเรามีการแลกเปลี่ยนซื้อขายเกิดขึ้นตลอดเวลา
และมีปริมาณมาก เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ เราก็สามารถจัดหมวดหมู่และรวมเอาสิ่งที่แต่ละคนทำให้ออกมาเป็นสิ่ง
ที่กินความกว้างขึ้น ซึ่งเราก็อาจแบ่งได้อย่างง่ายๆ ออกเป็น 3 ด้าน คือ 

1.ด้านการซื้อขายสินค้า (การซื้อ-ขาย สินค้าและบริการทุกชนิด) 
2.ด้านการใช้ทรัพยากรการผลิต (การว่าจ้างแรงงาน,การประกอบการ,การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ-เครื่องจักร) และ 
3.ด้านการเงิน (การกู้-ยืมเงิน, การลงทุนรูปแบบต่างๆ, การซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน) 

โดยทั้ง 3 ด้านนี้ ล้วนเกิดขึ้นโดยการกระทำระหว่างคน 2 กลุ่ม คือ หน่วยครัวเรือน และ หน่วยการผลิต การจับตา
ดูในภาพรวมนี้เองที่ทำให้เราทราบว่า เศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งมีการขยายตัว หรือหดตัว สามารถ
กำหนดทิศทางในการดำเนินการเพื่อยกระดับให้มาตรฐานการครองชีพของคนดีขึ้น