กลไกตลาด คืออะไร ทำไมใครๆ ก็พูดถึง

การซื้อขายสินค้าเกิดขึ้นจากการตกลงของคน 2 ฝ่าย คือ ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องยินดีที่จะทำการค้าขายกัน ไม่มีผู้ซื้อที่สามารถบังคับให้ผู้ขายขายสินค้าได้ และก็ไม่มีผู้ขายที่ไปบังคับให้ผู้ซื้อซื้อได้

ผู้ซื้อต้องการอะไร

Slide1

สิ่งที่ผู้ซื้อต้องการก็คือ สินค้าที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ และได้สินค้านั้นในราคาที่ถูกที่สุด เช่น ถ้าจะซื้อเสื้อ ก็จะพยายามเลือกสรรให้ได้ราคาถูกที่สุด (สำหรับลวดลาย/เนื้อผ้าที่ต้องการ) และถ้าพบเสื้อราคาถูกจำนวนมาก อย่างในงาน Sale 50% ก็จะเห็นคนแย่งกันซื้อจำนวนมาก แต่ถ้าเสื้อราคาแพงก็จะซื้อน้อยลง

ผู้ขายต้องการอะไร

Slide2

ผู้ขายเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพ ดังนั้นจึงพยายามให้ได้กำไรมากๆ พูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าขายของได้ราคาดี ก็อยากจะขายให้ได้มาก ๆ แต่ถ้าของชนิดไหนขายได้ราคาถูกก็ไม่อยากขายเท่าไหร่

ตลาดทำหน้าที่อะไร ทำไมถึงมีกลไกตลาด

ตลาดทำหน้าที่นำคนซื้อมาเจอกับคนขาย ไม่ว่าจะเป็นตลาดที่มีสถานที่จริง ตลาดออนไลน์ หรือแค่ผู้ซื้อได้มาพบกับผู้ขายก็ได้เกิดตลาดขึ้นแล้ว

แน่นอน ในการพบกันตอนแรกก็คงไม่สามารถรู้ความต้องการของกันและกันได้ดี เช่น ผู้ซื้อจะซื้อเสื้อกี่ตัวที่ราคา 200 บาท แล้วผู้ขายอยากขายมันมากน้อยขนาดไหน

แต่ตลาดสามารถบอกได้ว่า ถ้าขายเสื้อตัวนั้นราคาแพงเกินไป คนก็จะซื้อน้อย ถ้าหากขายถูกเกินไป ก็คงจะมีคนมารุมแย่งกันซื้อจนขายไม่ทัน

Slide3.JPG

กลไกตลาดจึงเริ่มทำงาน

  •  ถ้าขายของแพง มีความต้องการขายมากแต่ไม่มีคนซื้อ ก็ต้องยอมลดราคาลง เพื่อให้ได้กำไรที่ดีขึ้น (กำไรต่อตัวน้อยลง แต่ขายได้จำนวนมากขึ้น ดีกว่าของเหลือ)
  •  ถ้าขายของถูกเกินไป ของก็จะขายหมดก่อน แต่ยังมีคนเข้ามาติดต่อซื้อสินค้าต่อเนื่อง ดังนั้น ถ้าหากขึ้นราคาก็จะทำให้คนที่ต้องการของลดลงพร้อมๆกับทำให้ของที่ขายได้แต่ละชิ้นได้กำไรเพิ่มขึ้น

Slide4

กลไกตลาดจึงปรับราคาของสินค้า ซึ่งเป็นตัวส่งสัญญาณที่สำคัญที่สุดปรับตัวเข้าสู่จุดๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ความต้องการซื้อและความต้องการขายเท่ากัน ถ้าเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ก็จะเรียกจุดนี้ว่า ดุลยภาพ คือไม่มีการขยับเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว

ดุลยภาพนี้มีข้อดีก็คือ ทำให้มีปริมาณคนที่ได้รับการตอบสนองต่อความต้องการมากที่สุด ขายเสื้อได้มากที่สุดพร้อมๆกับซื้อเสื้อได้มากที่สุด เพราะในราคาที่สูง/ต่ำกว่าจุดนี้ จะมีปริมาณสินค้าซื้อขายจริงน้อยกว่านี้ทั้งหมด

Slide5.JPG

ดังนั้น กลไกตลาดจึงเป็นตัวช่วยส่งสัญญาณ ว่า สินค้าใดมีความต้องการมาก สินค้าใดมีคนขายน้อยเกินไป หรือสินค้าใดไม่มีความต้องการ โดยที่ไม่ต้องมีใครรู้ดีมาสั่งว่าสินค้านั้นๆ จะต้องผลิตมากเท่าไหร่ หรือขายที่ราคาเท่าไหร่ แต่ผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งมีอยู่เยอะในตลาดต่างรับรู้ได้ด้วยตนเองว่าควรจะปรับตัวกันอย่างไร กลไกตลาดจึงถูกเรียกว่า “มือที่มองไม่เห็น”

Slide6.JPG

ใส่ความเห็น