แรงจูงใจ…พลังที่ขับเคลื่อนทุกสิ่ง

จากความฝันสู่ความเป็นจริง

เราทุกคนคงมีความฝัน เป้าหมาย สิ่งที่ตนเองอยากได้หรืออยากมี ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ หรือเป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน แต่ความต้องการเหล่านี้เองที่เป็นจุดตั้งต้นให้เราตั้งใจทำอะไรสักอย่างอย่างจริงจัง เพื่อให้ไปถึงจุดหมายที่เราวาดฝันไว้

แรงจูงใจเป็นแรงผลักดัน หรือตัวกระตุ้น ให้เราทำหรือไม่ทำอะไรเพื่อให้บรรลุความฝันของตัวเอง เช่น

– หากเราต้องการรวย แรงจูงใจในการอยากรวยก็จะทำให้เราขยันทำงาน ศึกษาเรื่องราวการทำธุรกิจ หรือการลงทุนเพื่อให้แรงงาน/เงินออมของเราสามารถออกดอกออกผลและต่อยอดให้เรา มีกินมีใช้อย่างสุขสบาย

– เมื่อตอนที่เราเป็นเด็ก เราอาจเคยอยากวาดรูปเก่ง ซึ่งก็เป็นแรงผลักดันให้หลายๆคนหมกมุ่นและใช้เวลากับการวาดรูปได้ทั้งวันโดยที่อาจจะลืมกินข้าวไปเลยด้วยซ้ำ

Slide1

หากเปรียบชีวิตเหมือนการวิ่ง แรงจูงใจในที่นี้ก็คือ เส้นชัย เพื่อเติมเต็มความต้องการเราจึงต้องออกวิ่งเพื่อไปถึงเส้นชัยได้โดยเร็วที่สุด ถ้าทุกอย่างราบลื่นเราสามารถวิ่งไปถึงเส้นชัยได้โดยง่ายก็คงเป็นเรื่องดี แต่ชีวิตมักจะไม่ง่ายแบบนั้น ทุกคนก็ต่างต้องพบกับข้อจำกัดต่างๆนาๆที่จะทำให้เราวิ่งไปไม่ถึงเส้นชัยเสียที ถ้าหากใช้ตัวอย่างเดิม ข้อจำกัดเหล่านั้นก็เปรียบเหมือนร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เราไม่สามารถวิ่งได้อย่างเต็มที่นั่นเอง สุดท้ายเราบางคนอาจจะเลือกวิ่งให้เร็วและเมื่อเหนื่อยก็พักผ่อน หรือบางคนก็อาจเลือกที่จะเดินไปเรื่อยๆอย่างคงที่ คือ แต่ละคนก็จะมีวิธีการไปสู่เส้นชัยตามแบบฉบับที่ตัวเองชอบ

Slide2

มากเท่าไหร่จึงเรียกว่าฟิน?

สมมติว่า ถ้าหากตอนนี้เป้าหมายของเราคือความสุขที่ได้จากการทำอะไรซ้ำๆ เช่น ดูละคร คำถามที่ตามมาก็คือเราควรจะดูละครมากเท่าไหร่ถึงจะดี

แน่นอนว่าคนที่ชอบดูละครก็จะต้องได้รับความสุขเพิ่มขึ้นจากการดูละคร ยิ่งดูไป 1 ตอน ก็ยิ่งอยากดูตอนที่ 2 แต่หลายๆครั้ง เมื่อทำอะไรซ้ำๆ ก็จะเริ่มถึงจุดอิ่มตัว หรือเกิดความเบื่อหน่ายขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การลดลงของผลได้ และเมื่อการกระทำของเรามีต้นทุน เมื่อเราดูละครมากจนเกินไป ก็จะทำให้ความสุขลดลงได้เช่นกัน

ดังนั้นแล้ว จุดที่ดีที่สุดคืออะไร จุดนั้นก็คือ จุดที่เรายังคงรู้สึกคุ้มค่ากับมันเป็นหน่วยสุดท้าย ความสุขทั้งหมดที่เราได้ก็คือ ความสุข-ต้นทุน ของทุกๆหน่วยมารวมกัน และถ้าหากเราเลือกดูละครเพิ่มขึ้นอีก 1 ตอน จะทำให้ความสุขของเราลดลง (เนื่องจากต้นทุนในการดูละครในตอนสุดท้ายนี้สูงเกินกว่าสิ่งที่ได้รับเสียแล้ว)

ความฟินของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไปตามความชอบ เช่น ถ้าหากคนที่ชอบดูละครมากๆ จุดดังกล่าวอาจะเลื่อนไปเป็น ตอนที่ 20 หรือ 30 ในขณะที่คนที่ไม่ค่อยชอบดูละครนั้นอาจจะฟินตั้งแต่ตอนที่ 3 แล้วก็เป็นได้

กฎการลดลงของผลได้นี้เกิดขึ้นเสมอและเกิดขึ้นกับทุกเรื่อง และเราจะต้องเสียทรัพยากรในวิ่งที่เราเลือกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดูละครซึ่งใช้ทรัพยากรด้านเวลา หรือการซื้อของซึ่งต้องใช้ทรัพยากรด้านตัวเงิน หรือแม้แต่การดื่มสุราซึ่งทรัพยากรที่ต้องเสียไปก็คือสุขภาพ ซึ่งก็เปรียบได้กับว่า ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีราคาของมัน

Slide3

ทำไมต้องราคา?

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น สิ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดมักหนีไม่พ้นราคา แต่ทำไมนักเศรษฐศาสตร์หลายคนจึงต้องหมกมุ่นอะไรกับราคามากนัก? คำตอบหนึ่งก็คือ ราคานั้นเป็นตัวที่มีความเชื่องโยงกับ แรงจูงใจ ของคนจำนวนมาก ในโลกที่ทุกอย่างสามารถแปลงให้เป็นสินค้าได้(ไม่ก็พยายามแปลงอยู่) ก็จะต้องมีการซื้อขาย และราคาก็เป็นตัวสะท้อนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งมีมากหน้าหลายตานับไม่ถ้วน

ในด้านผู้ซื้อ ราคาเป็นตัวสะท้อนต้นทุน เมื่อของที่มีราคาแพง ก็จะทำให้กำลังซื้อของเราลดลง ผลก็คือทำให้เราเลือกซื้อน้อยลง(ถึงแม้เราอยากซ์้อมันใจจะขาด) แต่ในทางกลับกัน ราคาที่สูงขึ้นก็จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตนั้นอยากขายออกมาให้ได้มากๆ เพราะสินค้าทุกชิ้นที่ขายได้นั้นมีกำไรต่อหน่วยที่สูงขึ้น

ราคาของสินค้าชนิดหนึ่งยังสามารถกระทบไปยังสินค้าชนิดอื่นๆอย่างเป็นระบบ เช่น เมื่อราคาข้าวแพง ก็จะทำให้ราคาขนมปังแพงขึ้นเพราะคนเลือกที่จะกินขนมปังทดแทน แต่ในขณะเดียวกัน ราคากับข้าวก็จะลดลง เพราะคนที่ซื้อข้าวกินกับกับข้าวนั้นมีกำลังซื้อลดลง

Slide4

ปล้นแบงค์หรือปล้นคนแก่?

แรงจูงใจนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องดีๆ หรือ การหาเงิน การซื้อ-ขายของ เท่านั้น แต่มันยังเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในสังคมได้มากมายเช่นกัน แรงจูงใจที่ต้องการรวยของคนที่ไม่มีโอกาสทำงาน จะแสดงออกด้วยการทำสิ่งที่ผิดต่อสังคม เช่น การปล้น

การปล้นนั้นผู้ร้ายสามารถเลือกเป้าหมายได้ว่าจะปล้นใคร ด้วยวิธีการอะไร โดยเป้าหมายแต่ละประเภทก็จะมีผลได้และผลเสียที่แตกต่างกันอยู่บ้าง

– การปล้นธนาคารก็อาจทำให้ได้เงินเยอะมากในคราวเดียว สามารถกินอิ่มไปได้อีกนาน แต่ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงในการโดนจับก็มีสูงและอาจโดนข้อหาที่มีความรุนแรงมากด้วย

– ในทางตรงข้าม หากเราเลือกปล้นคนชรา โอกาสที่เขาจะสามารถป้องกันตัวเอง หรือไปแจ้งความแล้วมีคนตามจับเราได้นั้นน้อยกว่าการปล้นธนาคารมาก แต่เราอาจพบกับความไม่แน่นอนว่าจะปล้นแล้วได้เงินมาซักเท่าไหร่

Slide5

ความขัดแย้งของสังคม

นอกจากแรงจูงใจจะเป็นตัวขับเคลื่อนสิ่งที่ดีและไม่ดีในระดับบุคคลแล้ว ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบในระดับสังคมวงกว้างได้ด้วย เช่น ความขัดแย้งของ คน 2กลุ่ม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ความขัดแย้งในการพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การสร้างท่าเรือทางภาคใต้นั้นเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่การสร้างท่าเรือเท่ากับการทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยและทำมาหากินกับมันมาหลายรุ่น ด้วยแรงจูงใจที่ไม่ตรงกัน (ไม่ได้บอกว่าใครไม่ดี) จึงทำให้เกิดการถกเถียงถึงความคุ้มค่าและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคม

Slide6

แต่ในทางปฏิบัตินั้น การถกเถียงกันมักนำมาซึ่งการใช้อำนาจและเส้นสายที่มีไม่เท่าเทียมกัน คือ ฝั่งนายทุนนั้นก็มักใช้อำนาจสั่งการหรือใช้เงินเพื่อผลักดันโครงการต่างๆให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว (อย่าลืมว่าเวลาก็มีต้นทุน) แต่ในฝั่งชาวบ้านซึ่งมักถูกละเลยโดยเจ้าหน้าที่ ก็จะต้องใช้วิธีการเช่นการประท้วงและการขัดขวางการดำเนินงานเพื่อไม่ให้สิ่งที่ตนเองยึดถือนั้นถูกทำลายลง

ปัญหาที่ว่ามานี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นมาโดยตลอด บางครั้งฝั่งนายทุนก็เป็นฝ่ายชนะ แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งไป ในบางพื้นที่ชาวบ้านก็สามารถขัดขวางได้อย่างแข็งแกร่งและแสดงให้เห็นว่าเงินก็ไม่ได้สามารถเสกได้ทุกอย่าง

ใส่ความเห็น